รถ
ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุร้ายแรง
2024-11-01
สังคมไทยต้องเร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ หลังเกิดเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต สภาผู้บริโภคจึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเน้นยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้เทียบเท่าระดับสากล ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพรถโดยสาร
ความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค เน้นย้ำว่า สังคมไม่ควรลืมเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้เมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นและส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ขณะที่หน่วยงานต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันหาทางป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถสาธารณะ ซึ่งไม่ควรมองว่าเป็นเพียงอุบัติเหตุ แต่ต้องถือเป็นความรับผิดชอบของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพราะความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารให้เทียบเท่าระดับสากล
พ.ต.อ. อุดมศักดิ์ พาลี เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน เห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้และไม่ควรเกิดขึ้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหา รถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือน "ระเบิดเวลา" ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมระบบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานของบุคลากรในองค์กรและมาตรฐานของระบบการทำงาน รวมถึงการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยของรถยนต์อย่างเข้มงวด เช่น เรื่องการติดตั้งและความปลอดภัยถังแก๊ส การกำหนดระยะเวลาใช้งานโครงสร้างรถ เพื่อให้มั่นใจว่ารถโดยสารทุกคันมีมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากลควรกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารไม่ประจำทางอย่างชัดเจน
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลที่รวบรวมพบว่า รถบัสคันที่เกิดเหตุจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2513 หรือใช้งานมาแล้วประมาณ 54 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก ขณะที่ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า รถโดยสารประจำทางที่มีระยะทางไม่เกิน 300 กม. กำหนดให้มีอายุการใช้งานของแชสซีรถไม่เกิน 40 ปี แต่สำหรับรถโดยสารไม่ประจำทางกลับไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ต้องหารือและทบทวนต่อไปว่า จะแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าวอย่างไร และควรใช้เกณฑ์ใดในการกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารไม่ประจำทางต้องเร่งตรวจสอบและปรับปรุงรถโดยสารที่ติดตั้งแก๊ส
ผู้แทนจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ขบ. ได้เร่งนำรถโดยสารที่ติดตั้งแก๊สซีเอ็นจี (CNG) เข้าตรวจสภาพ โดยมีจำนวนทั้งหมด 13,426 คัน ซึ่งเป็นรถที่เป็นเช่าเหมา 956 คัน และรถประจำทาง 2,400 คัน ในจำนวนนี้มีรถที่ไม่ผ่านและพ้นห้ามใช้จำนวน 210 คัน เนื่องจากพบปัญหาต่างๆ เช่น ถังแก๊สหมดอายุ จำนวนถังแก๊สไม่ถูกต้อง เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบชำรุด เกิดแก๊สรั่วซึม น้ำหนักเกินที่จดทะเบียน หรือประตูขึ้นลงฉุกเฉินไม่สามารถใช้การได้ ทั้งนี้ ขบ. ยังกำหนดไม่ให้นำรถบัสโดยสารที่ติดตั้งแก๊สไปใช้ในการรับส่งเด็กหรือนักเรียนในช่วงนี้ถึง 30 พฤศจิกายน 2567ต้องปรับปรุงมาตรฐานการติดตั้งระบบแก๊สให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน เสนอให้ยกเลิกมาตรฐาน มอก.-2333 ที่ให้เลือกใช้วาล์วอัตโนมัติหรือวาล์วมืออย่างใดอย่างหนึ่ง และควรกลับไปใช้มาตรฐานต่างประเทศคือ EU Regulation-10 หรือ ISO-15501 ที่กำหนดให้ติดตั้งวาล์วหัวถังอัตโนมัติในทุกรถเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเสนอให้ควบคุมและกำกับดูแลเรื่องจุดติดตั้งถังแก๊สที่เหมาะสม รวมถึงการติดตั้งเรือนกักแก๊สในตัวถังของรถยนต์ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สลอยขึ้นสู่ห้องโดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุเร่งยกระดับมาตรการเพื่อความปลอดภัยนักเรียน
เดชา ปาณะสี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการมีการวางแผนการเผชิญเหตุและการจัดการภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรียนทุกแห่งมีการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละปี และมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ทาง สพฐ. ได้ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยในการทัศนศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเลือกสถานที่ที่ใกล้โรงเรียนสำหรับนักเรียนในระดับอนุบาล การตรวจสอบความปลอดภัยของรถยนต์โดยสารอย่างเข้มงวด และการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทาง